ช่องคลอด (vagina) เป็นอวัยวะที่เชื่อมระหว่างมดลูก (uterus) กับ บริเวณปากช่องคลอด (vulva) ซึ่งในผู้หญิงไทยมีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6 ถึง 10 เซนติเมตร โดยมีผนังเยื่อบุช่องคลอดเป็นเซลล์ชนิด “สแควมัส” ชนิดที่ไม่สร้างสารเคอราติน (non-keratinized stratified squamous epithelium) โดยจะมี ฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตแข็งแรงของเยื่อบุช่องคลอดชนิดนี้คือ เอสโตรเจน (estrogen)

เนื่องจากภายในช่องคลอดจะประกอบไปด้วยแบคทีเรียชนิดที่ไม่ก่อโรคอยู่หลายชนิดแต่ชนิดที่เด่นและ มีความสำคัญในการสร้างสมดุลมีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ แลคโตเบซิลไล (Lactobacilli) แบคทีเรียชนิดนี้จะ ย่อยสลาย glycogen ในช่องคลอด ให้กลายเป็น กรดแลคติค (Lactic acid) เพื่อให้ช่องคลอดคงสภาพ ความเป็นกรด ที่ pH 3.5-4.5 โดยสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดอ่อนๆนี้แหละ ที่จะเป็นเกราะคุ้มกันการติดเชื้อ จากแบคทีเรียก่อโรคตัวอื่นๆ

แต่หากสภาวะแวดล้อมภายในช่องคลอดมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดๆ ก็ตามเช่น การ ติดเชื้อ, เจ็บป่วยเรื้อรัง, การทำความสะอาดช่องคลอดที่ไม่ถูกวิธี หรือเข้าสู่สภาวะวัยหมดระดู สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะทำให้ช่องคลอด มี pH ที่มีความเป็นด่างมากขึ้น (มากกว่า 4.5) ก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆเหล่านี้เช่น ตกขาว คัน เจ็บหรือแสบ ช่องคลอด มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น มีมากมายในท้องตลาดควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี ความปลอดภัยและเหมาะสมคือมีคุณสมบัติดังนี้ เช่น มีความเป็นกรดอ่อนๆ ไม่ผสมสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็น ด่างสูง หลังใช้ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือมีสารเคมีตกค้าง ที่สำคัญคือไม่ทำให้ค่า pH ใน ช่องคลอดเปลี่ยนแปลง

การทำความสะอาดที่ถูกวิธีคือไม่สวนล้างเข้าไปข้างใน ควรทำความสะอาดแต่เพียงภายนอกเท่านั้น หลังล้างทำความสะอาดควรซับให้แห้งไม่ปล่อยให้เปียกหรืออับชื้น หากมีอาการเหล่านี้ควรไปปรึกษาแพทย์ เช่น ตกขาวมีปริมาณมากผิดปกติ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตกขาวมีสีเขียวหรือเหลืองเข้ม คันบวมแดงหรือ เจ็บแสบที่ในช่องคลอดหรือบริเวณปากช่องคลอด เป็นต้น

บทความโดย พันโท นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ศิริศักดิ์พาณิชย์
อาจารย์ แผนก สูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า